คู่ชีวิตของคุณคือใคร?

 

คู่ชีวิตของคุณคือใคร?

แม่?

พ่อ?

ภรรยา?

ลูกชาย?

สามี?

ลูกสาว?

เพื่อน?

ไม่ใช่สักคนที่ว่ามานี้หรอก!

คู่ชีวิตที่แท้จริงของคุณคือร่างกายของคุณเองต่างหาก

 

เพราะเมื่อร่างกายของคุณหยุดตอบสนอง ก็จะไม่มีใครอยู่เคียงข้างคุณ

 

คุณและร่างกายของคุณอยู่ด้วยกันตั้งแต่เกิดจนตาย สิ่งที่คุณทำกับร่างกายคือความรับผิดชอบของคุณและส่งผลต่อตัวคุณในท้ายที่สุด

 

ยิ่งคุณดูแลร่างกายตัวเองมากเท่าไหร่ ร่างกายของคุณก็จะใส่ใจคุณมากเท่านั้น

 

สิ่งที่คุณรับประทาน สิ่งที่คุณทำเพื่อให้แข็งแรง วิธีที่คุณจัดการกับความเครียด คุณพักผ่อนมากน้อยแค่ไหน จะเป็นตัวตัดสินว่าร่างกายของคุณจะตอบสนองอย่างไร

 

จำไว้ว่า ร่างกายเป็นที่อยู่ถาวรเพียงแห่งเดียวที่คุณอาศัยอยู่

 

เป็นทั้งสมบัติและความรับผิดชอบของคุณ ซึ่งไม่อาจแบ่งปันกับใครได้ ร่างกายของคุณเป็นความรับผิดชอบของคุณ เพราะคุณคือคู่ชีวิตที่แท้จริงของตัวเอง

 

จงแข็งแรงตลอดกาล  ดูแลตัวเอง เพราะเงินมีแล้วก็หมดไป ญาติและเพื่อนก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า

 

จำไว้ว่าไม่มีใครจะช่วยร่างกายของคุณได้นอกจากตัวคุณเอง

 

 

เครดิต: Sri Ravi Shankar

 

 

 

 --------------------------------------------------------------------

 

 

 

 

 

 

เคล็ดลับแสนง่ายในการป้องกันการลื่นล้ม

การลื่นล้มทำให้คุณเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัส ป้องกันการลื่นล้มด้วยวิธีเหล่านี้นับตั้งแต่ทบทวนเรื่องยาที่กินไปจนถึงการป้องกันอันตรายในบ้านของคุณ

การป้องกันการลื่นล้มอาจเป็นหัวข้อพูดคุยที่ไม่รื่นรมย์นัก แต่มันสำคัญ

เมื่อคุณอายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสุขภาพ ตลอดจนยาที่ใช้รักษาอาการเหล่านั้น  อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นล้มมากขึ้น

อันที่จริง การลื่นล้มเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้ความกลัวที่จะล้มเข้ามาควบคุมชีวิตของคุณ ลองดูวิธีป้องกันการลื่นล้มแบบง่าย ๆ  6 วิธีนี้กัน

 

1. นัดพบแพทย์

เริ่มวางแผนป้องกันการลื่นล้มโดยนัดพบกับแพทย์ประจำตัวพร้อมเตรียมตอบคำถามเหล่านี้:

  • คุณกินยาอะไรอยู่บ้าง? จดชื่อยาที่แพทย์สั่งและยาที่คุณซื้อกินเองรวมถึงอาหารเสริม หรือนำทั้งหมดที่ว่ามาติดตัวไปด้วย แพทย์จะได้ตรวจสอบยาของคุณเพื่อดูผลข้างเคียงตลอดจนปฏิกิริยา ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ เพื่อป้องกันการลื่นล้ม แพทย์อาจลดยาที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยหรือยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณ เช่น ยาระงับประสาทและยาแก้ซึมเศร้าบางประเภท
  • คุณเคยลื่นล้มมาก่อนหรือไม่? หากเคย พยายามบันทึกรายละเอียด รวมถึงเวลา สถานที่ และวิธีที่คุณลื่นล้ม เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คุณเกือบจะล้มแต่มีคนช่วยพยุงหรือสามารถคว้าอะไรไว้ทันด้วย  รายละเอียดพวกนี้ช่วยให้แพทย์สามารถระบุวิธีป้องกันการลื่นล้มเฉพาะอย่างได้
  • สุขภาพของคุณเป็นสาเหตุของการหกล้มหรือไม่? ความผิดปกติบางอย่างของตาและหูอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ เตรียมพูดคุยเรื่องสุขภาพและความคล่องแคล่วในการเดินของคุณกับแพทย์ด้วย  เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดข้อ หายใจถี่ หรือมีอาการชาที่เท้าและขาเวลาเดินบ้างไหม? แพทย์ของคุณอาจประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว และท่าทางการเดินของคุณร่วมด้วย

2. เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

การออกกำลังกายช่วยป้องกันการหกล้มได้ ถ้าแพทย์ของคุณเปิดไฟเขียว ลองทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดิน การออกกำลังกายในน้ำ หรือการรำไทเก็กดู ซึ่งอย่างหลังสุดนี้เป็นการออกกำลังกายแบบนุ่มนวลโดยใช้ท่วงท่าการเคลื่อนไหวที่สง่างาม กิจกรรมดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงจากการล้มได้โดยเพิ่มความแข็งแรง การทรงตัว การทำงานประสานกัน และความยืดหยุ่นของร่างกาย

หากคุณหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเพราะกลัวว่าจะทำให้มีแนวโน้มที่จะล้มมากขึ้น คุณควรปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์สามารถแนะนำโปรแกรมการออกกำลังที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดหรือแนะนำนักกายภาพบำบัดให้คุณได้ ซึ่งสามารถกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายแบบเฉพาะตัวเพื่อพัฒนาการทรงตัว ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และท่าทางการเดินให้คุณได้


3. สวมรองเท้าที่เหมาะสม

การเปลี่ยนรองเท้าถือเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการลื่นล้ม เพราะรองเท้าส้นสูง รองเท้าแตะคู่หลวม และพื้นรองเท้าที่ลื่นอาจทำให้คุณลื่น สะดุด และล้มลงได้เช่นเดียวกับการสวมถุงเท้าเดิน ดังนั้น ควรสวมรองเท้าที่พอดี กระชับเท้า และมีพื้นรองเท้าที่ไม่ลื่น รองเท้าที่ดียังช่วยลดอาการปวดข้อได้อีกด้วย


4. กำจัดจุดอันตรายในบ้าน

ลองดูรอบบ้านไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ทางเดิน และบันได ซึ่งอาจเต็มไปด้วยอันตราย แล้วกำจัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นซะ

  • กำจัดกล่อง หนังสือพิมพ์ สายไฟ และสายโทรศัพท์ให้พ้นทางเดิน
  • ย้ายโต๊ะรับแขก ชั้นวางนิตยสาร และกระถางต้นไม้ ให้พ้นจากบริเวณที่มีคนเดินขวักไขว่
  • ยึดพรมผืนลื่นด้วยเทปสองหน้า เทปกาว หรือแผ่นรองกันลื่น หรือไม่ก็เอาพรมผืนนั้นออกไปเลย
  • ซ่อมแซมพื้นกระดานที่เผยอและพรมที่ลื่นทันที
  • เก็บเสื้อผ้า ภาชนะ อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ไว้ใกล้มือ
  • ทำความสะอาดของเหลว คราบไขมัน หรืออาหารที่หกทันที
  • ใช้แผ่นรองกันลื่นในอ่างอาบน้ำหรือบริเวณอาบน้ำฝักบัว หรือใช้เก้าอี้อาบน้ำซึ่งช่วยให้คุณนั่งอาบน้ำได้


5. เพิ่มแสงสว่างให้กับพื้นที่ใช้สอยในบ้าน

เปิดไฟให้สว่างเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินสะดุดสิ่งของที่มองไม่เห็น รวมทั้ง:

  • ทำการติดตั้งไฟสำหรับเปิดทิ้งไว้ตอนกลางคืน (ไนท์ไลท์) ในห้องนอน ห้องน้ำ และโถงทางเดิน
  • ตั้งโคมไฟหัวเตียงไว้ใกล้มือเผื่อต้องลุกขึ้นกลางดึก
  • ไม่วางของกีดขวางทางเดินไปยังสวิตช์ไฟที่ติดตั้งห่างจากประตูห้อง และเปลี่ยนสวิตช์ไฟเป็นแบบเรืองแสงในความมืดหรือแบบที่มีแสงในตัวเอง
  • เปิดไฟก่อนขึ้น-ลงบันได
  • เก็บไฟฉายไว้ใกล้มือกรณีที่ไฟฟ้าดับ


6. ตัวช่วยเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น

แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ไม้เท้าหรือวอล์คเกอร์เพื่อการเดินที่มั่นคงขึ้น แต่ยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ อีกที่ช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยขึ้นเช่นกัน อาทิ:

  • ราวจับทั้งสองด้านของบันได
  • ดอกยางกันลื่นสำหรับพื้นบันไดไม้
  • ฝารองชักโครกแบบยกสูงหรือมีที่วางแขน
  • ราวจับบริเวณที่อาบน้ำหรือในอ่างอาบน้ำ
  • เก้าอี้พลาสติกที่แข็งแรงสำหรับตั้งในพื้นที่อาบน้ำหรืออ่างอาบน้ำ พร้อมหัวฝักบัวแบบมีด้ามจับถนัดมือสำหรับอาบน้ำในขณะที่นั่งลง

หากจำเป็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องนักกิจกรรมบำบัดซึ่งสามารถช่วยแนะนำวิธีป้องกันการลื่นล้มได้ บางวิธีอาจติดตั้งได้ง่ายและราคาไม่แพง แต่บางวิธีอาจต้องอาศัยมืออาชีพและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะนั่นหมายถึงการที่คุณใช้ชีวิตได้อย่างอิสระนั่นเอง

เครดิต: Mayo Clinic

 

 

 

--------------------------------------------------------------------

Visitors: 6,437